โรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ พบเป็นสาเหตุหลักของภาวะสมองเสื่อม มีอาการสูญเสียความทรงจำแบบค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้นตามลำดับ สัญญาณเริ่มแรก คือ การลืมเหตุการณ์ ลืมการสนทนาหรือกิจวัตรประจำวัน หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจสูญเสีย การตัดสินใจ การวางแผน และการช่วยเหลือตนเอง

ปัจจุบันมีวิทยาการในการตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ และมีการรักษาด้วยยาและการปรับพฤติกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบสมอง อย่างไรก็ดีในระยะท้ายของโรค ผู้ป่วย โรคอัลไซเมอร์ จะสูญเสียความสามารถในการทำงานของสมองเป็นอย่างมากจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและอาจเกิดการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้

โรคอัลไซเมอร์

อาการของโรคอัลไซเมอร์

– ความทรงจำ
โรคอัลไซเมอร์ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความทรงจำ ซึ่งส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน อาการของโรคอัลไซเมอร์ คือพูดและถามประโยคเดิมซ้ำ ๆ ลืมการพูดคุยหรือเหตุการณ์ ลืมชื่อคนในครอบครัว วางของผิดที่ หลงในที่คุ้นเคย เป็นต้น

– การคิดและการใช้เหตุผล
ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะสูญเสียทักษะและการตัดสินใจในการทำสิ่งต่าง ๆ เช่น ไม่สามารถคำนวณตัวเลขได้ ใช้สิ่งของผิดวิธี และลืมวิธีการทำงานพื้นฐานทั่วไปตามลำดับขั้น

– บุคลิกภาพและพฤติกรรม
ผู้ป่วยอาจมีอาการกระสับกระส่ายวุ่นวาย หรือมีภาวะแยกตัวไม่พูดก็ได้ มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนอนหลับ อาจพบภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดและก้าวร้าว ไม่สนใจการทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน เช่น การอาบน้ำ เป็นต้น

– ทักษะที่เก็บรักษาไว้
มีอยู่หลายความสามารถที่ถูกเก็บรักษาไว้แม้ในขณะที่อาการแย่ลงเพราะถูกควบคุมโดยส่วนต่าง ๆ ของสมองที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ ทักษะที่เก็บรักษาไว้รวมถึงการอ่านหนังสือเล่านิยายคิดถึงความทรงจำเก่า ๆ การร้องเพลงการเต้นรำและการวาดรูป

สาเหตุ

โรคอัลไซเมอร์เกิดจากหลายปัจจัยทั้งพันธุกรรม วิถีชีวิต และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โรคมักจะเริ่มต้นในส่วนสมองที่ควบคุมความทรงจำ กลไกการเกิดโรคเชื่อว่ามีการสะสมของโปรตีนบางชนิด เช่น โปรตีน amyloid และ โปรตีน tau ผิดปกติในเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาทเสื่อมสภาพ สูญเสียการทำงานเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ จนกระทั่งทำให้เซลล์สมองตาย โดยพยาธิสภาพดังกล่าวจะเกิดในส่วนอื่นๆของสมองด้วยตามลำดับ ทั้งนี้ระบบการทำงานของสมองมักถูกทำลายก่อนมีอาการแสดง

ปัจจัยเสี่ยง

– โรคอัลไซเมอร์มักพบในช่วงวัยอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
มีงานวิจัยหนึ่งศึกษาพบว่า จากกลุ่มประชากรทั้งหมด 1,000 คน แต่ละปีในช่วงอายุ 65 ปี ถึง 74 ปี มีการพบผู้ป่วย 2 คน ในช่วงอายุ 75 ปี ถึง 84 ปี มีการพบผู้ป่วย 11 คน และในช่วง 85 ขึ้นไปมีการพบผู้ป่วย 37 คน สนับสนุนว่าอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค

– ประวัติครอบครัวและพันธุศาสตร์
กลไกทางพันธุกรรมในครอบครัวส่วนใหญ่ของโรคอัลไซเมอร์ยังคงไม่สามารถอธิบายได้ แต่หากมีประวัติบุคคลคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์มากขึ้น ในปัจจุบันมีการค้นพบว่าหากมีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง apolipoprotein E (APOE e4) ผิดปกติ จะส่งผลให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมนี้จะเกิดโรคทั้งหมด

– โรคดาวน์ซินโดรม
คนที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรมจำนวนมากจะพบภาวะโรคอัลไซเมอร์ร่วมด้วย โดยมีอาการเร็วกว่าคนปกติทั่วไป 10 หรือ 20 ปี สาเหตุหลักเป็นผลจากพันธุกรรมของโครโมโซมคู่ที่ 21

– เพศ
ความเสี่ยงระหว่างเพศชายและเพศหญิงมีความแตกต่างกันเล็กน้อย

– การบาดเจ็บศีรษะอย่างรุนแรง
บุคคลที่มีการบาดเจ็บทางศีรษะอย่างรุนแรงจะมีความเสี่ยงต่อเป็นอัลไซเมอร์

– การนอนหลับที่ผิดปกติ
มีงานวิจัยพบเจอว่าบุคคลที่มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น การหยุดหายใจขณะนอนหลับจะมีความเสี่ยงสูงกับการเป็นอัลไซเมอร์

– วิธีการดำเนินชีวิตและโรคร่วม
การขาดการออกกำลังกาย โรคอ้วน การสูบบุหรี่ โรคเบาหวานประเภท 2 ภาวะความดันโลหิตสูงและคอเลสเตอรอล โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

การรักษา

การรักษาในปัจจุบันเป็นการรักษาเพื่อช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น และยังไม่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ ยาช่วยเรื่องของความทรงจำและพฤติกรรม เช่น

– Cholinesterase inhibitor ยากลุ่มนี้ทำงานโดยยับยั้งเอนไซม์ที่ไปทำลายสารสื่อประสาท ทำให้สารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างเซลล์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มใช้ได้ในผู้ป่วยที่มีอาการตั้งแต่ระยะแรก เช่น ยา Galantamine. Rivastigmine. โดยมีทั้งในรูปแบบรับประทานและแผ่นแปะ

– N-methyl-D-aspartate (NMDA) receptor antagonist ยากลุ่มนี้มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการระดับปานกลางถึงรุนแรง มักใช้ควบคู่กับยากลุ่ม Cholinesterase inhibitor เช่น ยา Memantine

– ยาปรับพฤติกรรม และอารมณ์ เช่น ยาลดอาการกังวลหรือยานอนหลับประเภทต่าง ๆ

เมื่อใดควรพบแพทย์

หากมีปัญหาความทรงจำผิดปกติ การตัดสินใจช้าลง บุคลิกภาพหรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ควรพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและวินิจฉัยอย่างละเอียด

ที่มา

bumrungrad.com

paolohospital.com

 ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ peachstateinvestigations.com